วันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2552

สู้อัตราเงินเฟ้อ และความเสี่ยงของฉัน

การลงทุนให้ชนะเงินเฟ้อมีแค่ 3 อย่าง

คือ

1. ทอง (ถูกราคา ถูกเวลา)

2. อสังหาริมทรัพย์ (ถูกที่ ถูกราคา ถูกเวลา)

3. หุ้น (ถูกตัว ถูกที่ ถูกราคา)

*************************************************************************

ธีระ ภู่ตระกูล
“มีบำนาญแล้ว จะต้องเก็บอะไรอีกล่ะ”
“มีเงินในกองทุนประกันสังคมแล้วครับ”
“โอ๊ย…จะกินไปวัน ๆ ยังไม่ค่อยจะมีเลย จะเอาที่ไหนมาเก็บละคะ”
“จะรีบไปทำไม เพิ่งจะเริ่มทำงานปีแรก จะให้เก็บเงินเตรียมเกษียณแล้วหรือครับ”
คำตอบอาจต่างกันออกไปแต่กระแสเสียงที่จับได้จากคำตอบที่เรามักจะได้ยินเมื่อมีการเปิดประเด็นเรื่องการเก็บเงินไว้ใช้ยามแก่ หรือ พูดด้วยภาษาวิชาการสักนิด คือ การจัดสรรเงินออมเพื่อการเกษียณ ก็คือความไม่ใส่ใจ
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม พวกเรามักไม่ให้ความสำคัญกับ เรื่องนี้เท่าไรนัก ทั้งที่การไม่วางแผนจัดสรรการออมเพื่อการเกษียณไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ นั้นนับเป็นความประมาทที่อาจก่อความเสียหายให้กับชีวิต ในวันข้างหน้าได้มากมายมหาศาล
คำแนะนำที่ตรงไปตรงมาที่สุดในการป้องกันความเสียหายที่อาจ เกิดขึ้น คือ เริ่มคิด (เรื่องการ) เริ่มออมกันตั้งแต่บัดนี้ก่อนที่จะสาย เกินไป และเพียงคุณเริ่มต้นพิจารณาศึกษากลยุทธ์การออมที่มีอยู่ ก็เท่ากับคุณเริ่มวางแผนจัดสรรเงินออมเพื่อเกษียณแล้วละครับ
เตรียมตั้งรับ ตั้งแต่ยังเยาว์
การจัดสรรเงินออมเพื่อการเกษียณ ฟังแล้วเครียด
แน่ละครับ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นี่ครับ
เอาละ เรามาคิดดูนะครับว่า หากเราเริ่มต้นชีวิตการทำงานเมื่ออายุ 21 ปี แล้วไปเกษียณตอน 65 ปี รวมเวลาทำงานหาเงินทั้งหมด 44 ปี คิดกันในแง่ดี (เอามากๆ) ว่าเราน่าจะมีช่วงชีวิตอยู่ได้จนถึงราว 85-90 ปี เราเลือกตัวเลขที่กลางๆ หน่อยก็ได้ ประมาณ 87 ปี
บวกลบแล้วเราจะ (ยัง) มีชีวิตในช่วงหลังเกษียณไปอีก 22 ปี เท่ากับ 2 : 1 ซึ่งหมายถึงว่าเราจะต้องเก็บเงิน จากการทำงานในช่วง 2 ปี เพื่อสำรองไว้ใช้ตอนเกษียณ 1 ปี แต่อย่างที่รู้ๆ กันว่าอนาคตไม่มี อะไรแน่นอน อาจจะมีสักปีหรือสองปีที่เราต้องเผชิญวิกฤติทางการเงิน ขึ้นมาอย่างกระทันหัน ทำให้เราออมเงินไม่ได้ตามสัดส่วน ผลกระทบ ย่อมจะเกิดขึ้นกับเงินในส่วนที่จะสะสมไว้ใช้ยามเกษียณอย่างแน่นอน
และนี่นับเป็นเหตุผลที่ทำให้เราควรวางแผนออมเงินเพื่อเกษียณ และควรจะออมกันเสียตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยนะครับ
ดอกเบี้ยทบต้น มูลค่าที่เพิ่มพูน
การผลิบานของดอกเบี้ยทบต้น เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราควร เร่งเก็บเร่งออมเงินโดยเริ่มเก็บเริ่มออมกันเสียตั้งแต่เนิ่นๆ
หลายคนอาจมีความรู้สึกไม่ดีนักกับดอกเบี้ยประเภทนี้เพราะทำให้ นึกไปถึงเจ้าหนี้หน้าเลือด แต่ดอกเบี้ยทบต้นมิได้คิดกันแต่ในวงการเงิน กู้นอกระบบเท่านั้นนะครับ ในแวดวงการลงทุนที่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ใช้ระบบดอกเบี้ยทบต้นเหมือนกัน และเมื่อคิดผลได้ตามระบบ ดอกเบี้ยทบต้น การออมเงินอาทิตย์ละ 100 บาทในวันนี้จนเกษียณ อายุตอน 65 ปี ดอกเบี้ยจะผลิบานให้ผลตอบแทนที่แสนจะน่าชื่นใจ เพราะครั้งหนึ่ง (นานมาแล้ว) เมื่ออัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 10 ต่อปี ยอดเงินออมที่สะสมไว้ตั้งแต่ยังเยาว์นี้ขยายผลเพิ่มยอดได้มากกว่าล้าน
ที่ควรคิดและพิจารณากันอีกประการก็คือ การออมเงินเพื่อเกษียณ นอกจากจะเจียดเงินเก็บกินดอกเบี้ยในธนาคารแล้วยังมีทางเลือก ทางอื่นอีก อย่างเช่น ลงทุนในกองทุนที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีอย่าง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคม กองทุนรวมและกองทุน รวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งถือว่าเป็นการจัดสรรการออมเพื่อการ เกษียณที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในตอนนี้เพราะนอกจากเงินปันผลจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีแล้ว เงินสะสมที่เราจ่ายเข้ากองทุนยังสามารถนำมาลดหย่อนเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีได้อีก ด้วยนะครับ
ส่วนรายที่ทำงานอิสระที่ควรให้ความสนใจก็คือกองทุนรวมเพื่อการ เลี้ยงชีพ (RMF) ครับ
วันนี้ยังไม่สาย
ไม่ต้องท้อใจหากยังไม่ได้เริ่มต้นการออมเพื่อเกษียณ เพราะเริ่มกันวันนี้ยังไม่สาย แต่ต้องทำใจกันไว้ว่าการออมจะไม่ง่ายเหมือน พวกที่รู้จักเก็บรู้จักออมตั้งแต่อ้อนแต่ออก เพื่อเป็นกำลังใจให้กับคน คิดช้า (ไปหน่อย) มีสมมติฐานที่พอเป็นยาชูใจอยู่บ้างมาฝากครับ
คือว่าช่วงอายุที่มักจะเป็นช่วงเวลาที่รุ่งสุดๆ ในชีวิต การทำงานมี ตำแหน่งสูงและมีรายได้มากที่สุดของคนส่วนใหญ่มักจะอยู่ในช่วงอายุ ประมาณ 50 ปี ซึ่งช่วงนี้เงื่อนไขที่เป็นเป้าหมาย (ภาระ) ทางการ เงินน่าจะคลี่คลายไปบ้างเป็นบางส่วน หลายคน (ใกล้) หมดภาระส่งบ้าน (และ) หรือลูกๆ ก็เรียนจบ มีงานมีการทำกันบ้างแล้ว ภาระเบาบางลงน่าจะทำให้มีกำลังในการออมมากขึ้นนะครับ
แต่ยังไงก็อย่านำเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างประมาณว่าหวังน้ำบ่อหน้า เลื่อนแผนการจัดสรรเงินออม เพื่อการเกษียณออกไปเด็ดขาด เพราะการยืดเวลาครวญเพลง “รอ” ต่อไปอีก จะทำให้ทางเลือกในการออม จำกัดยิ่งขึ้นทุกที
และขอเตือนไว้ด้วยนะครับว่ามีบ้างเป็นบางครั้งที่เราก็ควรมองโลก ในแง่ร้ายไว้ด้วยเหมือนกัน เราไม่ควรลืมความจริงที่ว่าไม่มีใครรู้ลิขิต แห่งฟ้าที่วาดหวังไว้สวยหรูว่าชีวิตการงานจะรุ่งพุ่งแรงตอน 50 แต่ชะตาอาจพลิกผันกลายเป็นถูกปลดเพราะพิษเศรษฐกิจ เกิดอุบัติเหตุ ร้ายแรง มีปัญหาด้านสุขภาพ สถานการณ์เหล่านี้อาจทำให้เรา (จำ) ต้องเกษียณก่อน 65 ปี ตามเกณฑ์ แน่นอนสำหรับเราผู้มีวิสัยทัศน์ เหตุการณ์ (ร้าย) ที่อาจเกิดขึ้นนี้น่าจะทำให้ตัดสินใจเริ่มต้นออมเงิน เพื่อเกษียณกันได้แล้ว ใช่ไหมครับ แต่ที่หลายคนอาจจะยังไม่กระจ่างนักก็คือ ควรเตรียมเงินไว้มากน้อยแค่ไหน และควรจะเลือกเส้นทาง การออมแบบใด จึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด
ตัวแปรสำคัญ
การออมเงินเพื่อเกษียณนี้ต่างจากเป้าหมายการเงินที่จำเป็นอย่างอื่นๆ รถยนต์ บ้าน ค่าเล่าเรียนลูก ต่างมีป้ายบอกราคา แต่การเตรียมเงิน ไว้ใช้ยามเกษียณที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ไม่มีป้ายบอกราคาที่แน่ชัด แต่เราก็พอจะมีตัวแปรที่นำมาคำนวณเพื่อจัดสรรเงินออมไว้ใช้ยาม เกษียณในอีกราวสิบหรือยี่สิบปีข้างหน้าได้
อย่างแรกที่เราต้องคิดถึงก่อน คือประเมิน (ตน) ว่าเราน่าจะมีอายุ ยืน (สัก) แค่ไหน และที่เราลืมไม่ได้ (แต่มักจะลืมกัน) คืออัตราเงินเฟ้อ ที่เกิดขึ้นในแต่ละปีซึ่งนี่เองที่อาจทำให้เรามีมาตรฐานและคุณภาพชีวิต ในตอนนั้น (หลังเกษียณ) ต่ำกว่าที่คาดไว้เพราะอาจมีเงินใช้จ่ายเงิน ได้เพียง 60-80 เปอร์เซ็นต์ของที่คิดไว้ในตอนนี้
ย้อนกลับมาที่ตัวแปรแรกกันก่อน แน่นอนอายุเฉลี่ยของคนเราจะยืนยาว ขึ้นจัดเป็นเรื่องดี แต่เวลาที่เพิ่มขึ้นนี้ก็ทำให้เราต้องอด (เพื่อ) ออมมากขึ้นตามไปด้วย และนี่เองคือความกดดันอย่างหนึ่งของพวกเรา ที่ยังไม่ได้เริ่มต้น
การคำนวณ (จริงๆ แล้วคือประมาณการ) ว่าเราจะมีชีวิตยาวนาน แค่ไหนนั้น ต้องพิจารณาปัจจัยรอบด้าน และตรรกะตามหลัก คณิตศาสตร์ ชั้นสูง ซึ่งตามสถิติในปัจจุบันอายุเฉลี่ยของผู้ชายจะอยู่ที่ 68 ปี ผู้หญิงอยู่ที่ 73 ปี และจากเกณฑ์การเกษียณอายุซึ่งส่วนมาก กำหนดกันเอาไว้ที่ 65 ปี นั่นเท่ากับว่าผู้ชายต้องจัดสรรเงินเพื่อเก็บไว้ ใช้จ่ายหลังเกษียณเพียง 3 ปี ส่วนผู้หญิงต้องเตรียมไว้ 8 ปี
แต่นี่เป็นค่าเฉลี่ยเท่านั้น การคำนวณช่วงอายุของแต่ละคนว่าจะอยู่ได้นานเท่าไร ต้องคิดถึงปัจจัยอื่นด้วย อาทิ นิสัย การกินการอยู่ ปริมาณและความถี่ในการเสพสุรา สูบบุหรี่ วินัยการขับรถ รวมไปถึง ประวัติการแพทย์ของสมาชิกในครอบครัว ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ได้ตัวเลขประมาณการที่แม่นยำพอสมควรและในการวางแผนจัดสรร เงินออมเพื่อเกษียณนี้ เราควรบวกเวลาเพิ่มไว้อีกสัก 5 ปีด้วยนะครับ
ที่นี้เรามาดูตัวแปรตัวที่สองที่ว่ากันว่าลืมไม่ได้เลย ก็เงินเฟ้อยังไงละครับ
แม้จะมีการเตือนกันเรื่องอัตราเงินเฟ้อ แต่สำหรับคนไม่ชอบ คณิตศาสตร์หลายคน ปัจจัยเรื่องนี้มักถูกมองข้ามเข้าข่ายเรื่องเล็กน้อย โดยเฉพาะในช่วงสองสามปีนี้ เพราะอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำเพียง 2-3 เปอร์เซ็นต์ หากไม่ใช่คุณนายละเอียดก็คงคิดว่าถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายมากกว่าเสียอีก แต่เมื่อคิดให้ถี่ถ้วนจะพบว่าตัวเลขที่ว่าจิ๊บจ้อย นี้มีมูลค่าไม่น้อยเลยและเพื่อเห็นภาพอย่างชัดเจน เรามาคำนวณมูลค่า (เงิน) ที่หายไปเพราะอัตราเงินเฟ้อ ไปพร้อมๆ กับเพื่อนผม คุณนายละเอียดกันนะครับ
คุณนายละเอียดอายุ 35 ปี มีแผนว่าจะเก็บเงินเตรียมไว้ใช้ ตอนแก่สักเดือนละ 40,000 บาท ซึ่งเธอมีแผนว่าจะเกษียณตาม เกณฑ์คือ 65 ปี ตามหลักการคำนวณในขั้นประถม เธอจะมีเวลาทำงาน อีก 30 ปี ทีนี้เธอก็ใช้คณิตศาสตร์ที่สูงอีกนิดมาคิด คำนวณว่าด้วยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี มูลค่าเงิน 40,000 บาท ในวันนี้ของเธอจะเป็นเท่าไรในอีกสามสิบปีข้างหน้า
16,000 บาท คือคำตอบที่ได้ (คุณนายละเอียดถึงกับถามหา ยาดม) เหลือเงินให้ใช้เพียง 40 เปอร์เซ็นต์ของที่วางแผนเอาไว้และสำหรับคุณนายละเอียดที่ละเอียดสมชื่อ เธอวางแผนไว้ว่าจะอยู่ยาวไป จนถึงอายุ 85 ปี เธอจึงคำนวณต่อไปอีกและเมื่อถึงตอนนั้น (ในปีที่เธอ มีอายุครบ 85 ปี) เงิน 40,000 บาท จะลดค่าลงเหลือเพียง 8,700 บาทเท่านั้น (คราวนี้คุณนายละเอียดเรียกหายาหอมเลยละครับ)
มูลค่าที่ลดลงนี้คิดจากอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ (มาก) เพียง 3 เปอร์เซ็นต์ ต่อปีเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ระหว่าง 5-6 เปอร์เซ็นต์มากกว่า
บทสรุป
ในการวางแผนจัดสรรกำหนดวงเงินที่จะออม เพื่อใช้ในบั้นปลาย ชีวิต จะชัดเจนขึ้นเมื่อเรานำตัวแปรทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นอายุ ระยะเวลา (ช่วงเวลาที่คาดว่าจะยังคงอยู่หลังเกษียณ) และอัตราเงินเฟ้อมา คำนวณอย่างเป็นเรื่องเป็นราวซึ่งเราอาจจะพบว่าตัวเลขที่เป็นผลลัพธ์ อาจพุ่งเลย 7 หลัก แม้ว่าจะมีแผนการใช้ชีวิตที่สมถะประหยัดที่สุด แล้วก็ตาม (เถอะ) ตัวเลขที่ได้อาจทำให้เราเสียศูนย์ เพราะคิดไปว่า ยุทธศาสตร์การออมที่หินที่สุดแล้ว เป้าหมายที่ตั้งไว้ก็ดูว่าจะสูงเกินกำลังจะไขว่คว้า
แต่ก็อย่าท้อเพราะยังมีหลายวิธีที่ช่วยได้ อาทิ ปรับลดมาตรฐาน ชีวิตในช่วงหลังเกษียณลงบ้าง ยืดอายุการทำงานให้นานขึ้นอีกนิด หรือ อาจจะวางแผนธุรกิจหางานเสริมทำในช่วงหลังเกษียณแล้วก็ได้นี่ครับ
จาก http://www.finansa-asset.com/print/th_re_article4.asp

*******************************************************


ไม่มีความคิดเห็น: